เอกสารประชาสัมพันธ์
ความรู้เกี่ยวกับสาธารณภัยและการป้องกันภัยสำหรับประชาชน
-------------------------
สาธารณภัย ประกอบด้วย อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย แผ่นดินไหว อาคารถล่ม ภัยจากภัยแล้ง ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ภัยจากไฟป่า ภัยจากอากาศหนาว ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง
ภัยพิบัติ (ระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2540) หมายถึง สาธารณภัย ได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ฟ้าผ่า ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยจากโรค หรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด อากาศหนาวจัดจนสัตว์ต้องสูญเสียชีวิต ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีมาเป็นสาธารณะไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชนหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ
ประเภทของสาธารณภัย
แบ่งตามลักษณะการเกิดหรือสาเหตุ ได้เป็น 2 ประเภท คือ สาธารณภัยธรรมชาติ และสาธารณภัยจากมนุษย์
1. สาธารณภัยธรรมชาติ (Natural Disaster) เป็นสาธารณภัยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มักเกิดขึ้นตามฤดูกาลเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยกะทันหันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ อุทกภัย (น้ำท่วม), วาตภัย (พายุ), อัคคีภัย (เพลิงไหม้), อากาศหนาวผิดปกติ, คลื่นความร้อน (เกิดความร้อนผิดปกติ), ภัยแล้ง (ความอดอยาก ขาดแคลน แห้งแล้ง), แผ่นดินถล่ม (ฝนตกหนักมาก ดินบริเวณภูเขาอุ้มน้ำไว้จนเกิดการอิ่มตัวและไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้), การระบาดของโรค เช่น ฉี่หนู, อหิวาตกโรค, ภัยจากฝูงสัตว์และแมลง
2. สาธารณภัยจากมนุษย์ เป็นสาธารณภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยอาจเกิดจากสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ประดิษฐ์เพื่อความสุขสบาย หรือเพื่อประหัตประหารกัน เช่น ภัยจากจราจร (ภัยทางอากาศ ภัยทางบก ภัยทางน้ำ ฯลฯ), ภัยจากการประกอบอาชีพ (ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม), ภัยจากความไม่สงบของประเทศ (จลาจล การปฏิวัติ การก่อวินาศกรรม ก่อการร้าย สงคราม), ภัยจากไฟฟ้า อัคคีภัย, ภัยจากวัตถุอันตราย, ภัยจากความเจริญทางเทคโนโลยี
การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย
ควรประสานงานระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อได้รับคำเตือนภัยว่าจะมีอุทกภัยเกิดขึ้น ประชาชนที่มีบ้านเรือนหรือทำการเพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ริมแม่น้ำ ริมคลอง หรือตามชายทะเล ควรปฏิบัติดังนี้
ก่อนเกิดอุทกภัย ควรปฏิบัติดังนี้
1. เชื่อฟังคำเตือนอย่างเคร่งครัด
2. ติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง
3. เคลื่อนย้ายคน สัตว์เลี้ยง และสิ่งของไปอยู่ในที่สูง ซึ่งเป็นที่พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน
4. สำหรับอาคารบ้านเรือนและโรงงาน ถ้าสามารถขนย้ายสิ่งของไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้สมควรกระทำ หรืออาจยกพื้นให้สูงเพื่อหนีน้ำ หรือทำคันดินหรือกำแพงกั้นน้ำรอบบริเวณ
5. ทำคันดินหรือกำแพงกั้นน้ำโดยรอบ
6. เคลื่อนย้ายพาหนะ เช่น รถยนต์หรือล้อเลื่อนไปอยู่ที่สูง หรือทำแพสำหรับที่พักรถยนต์
7. เตรียมกระสอบใส่ดินหรือทราย เพื่อเสริมคันดินที่กั้นน้ำให้สูงขึ้น เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงท่วมคันดินที่สร้างอยู่
8. ควรเตรียมเรือไม้ เรือยาง หรือแพไม้ไว้ใช้ เพื่อใช้เป็นพาหนะในขณะน้ำท่วมเป็นเวลานาน เรือเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตได้เมื่ออุทกภัยคุกคาม
9. เตรียมเครื่องมือช่างไม้ ไม้กระดาน และเชือกไว้สำหรับต่อแพ เพื่อช่วยชีวิตในยามคับขัน
10. เตรียมอาหารกระป๋อง หรืออาหารสำรองไว้บ้าง พอที่จะมีอาหารรับประทานเมื่อน้ำท่วมเป็นระยะเวลาหลาย ๆ วัน
11. เตรียมน้ำดื่มเก็บไว้ในขวดและภาชนะที่ปิดแน่น ๆ เพราะน้ำที่สะอาดที่ใช้ตามปกติขาดแคลนลง ระบบการ ส่งน้ำประปาอาจจะหยุดชะงักเป็นเวลานาน
12. เตรียมเครื่องเวชภัณฑ์ไว้บ้างพอสมควร เช่น ยาแก้พิษกัดต่อยแมลงป่อง ตะขาบ งู และสัตว์อื่น ๆ
13. เตรียมเชือกมนิลามีความยาวไม่น้อยกว่า 10 เมตร ใช้ปลายหนึ่งผูกมัดกับต้นไม้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ในกรณีที่กระแสน้ำเชี่ยว และคลื่นลูกใหญ่ซัดมา จะช่วยไม่ให้ไหลลอยไปตามกระแสน้ำ
14. เตรียมวิทยุที่ใช้ถ่านไฟฉาย เพื่อไว้ติดตามฟังรายงานข่าวลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
15. เตรียมไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และเทียนไข เพื่อไว้ใช้เมื่อไฟฟ้าดับ
ขณะเกิดอุทกภัย ควรตั้งสติให้มั่นคง อย่าตื่นกลัวหรือตกใจ ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ตัดสะพานไฟ และปิดแก๊สหุงต้มให้เรียบร้อย
2. อยู่ในอาคารที่แข็งแรง และอยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำ
3. จงทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
4. ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก
5. ไม่ควรเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเล่นในขณะน้ำท่วม
6. ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้าน และหลังคาเรือนกัดต่อย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้น
7. ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตลมฟ้าอากาศ และติดตามคำเตือนเกี่ยวกับลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
8. เตรียมพร้อมที่จะอพยพไปในที่ปลอดภัยเมื่อสถานการณ์จวนตัว หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ
9. เมื่อจวนตัวให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมากกว่าห่วงทรัพย์สมบัติ
หลังเกิดอุทกภัย เมื่อระดับน้ำลดลงจนเป็นปกติ การบูรณะซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ จะต้องเริ่มต้นทันที ประกอบด้วย
1. การขนส่งคนอพยพกลับยังภูมิลำเนาเดิม
2. การช่วยเหลือในการรื้อสิ่งปรักหักพัง ซ่อมแซมบ้านเรือนที่หักพัง ถ้าบ้านเรือนที่ถูกทำลายให้ช่วยเหลือในการจัดหาที่พักอาศัยและการดำรงชีพชั่วระยะหนึ่ง
3. การกวาดเก็บขนสิ่งปรักหักพังทั่วไป การทำความสะอาดบ้านเรือน ถนนหนทาง และสิ่งชำรุดเสียหาย
4. ซ่อมแซมบ้านเรือนอาคาร โรงเรียนที่พักอาศัย สะพานที่หักพังชำรุดเสียหาย หากเสียหายมากจนไม่อาจซ่อมแซมได้ ก็ให้รื้อถอนเพราะจะเป็นอันตรายได้
5. ซ่อม แก้ไขเครื่องสาธารณูปโภคให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา โทรเลข โทรศัพท์
6. ภายหลังน้ำท่วมจะมีซากสัตว์ตาย ปรากฏในที่ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจัดการเก็บฝังโดยเร็ว สัตว์ที่มีชีวิตอยู่ซึ่งอดอาหารเป็นเวลานาน ให้รีบให้อาหารและนำกลับคืนให้เจ้าของ
7. ซ่อมแซมถนน สะพาน และทางรถไฟที่ขาดตอนชำรุดเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม เพื่อใช้ในการคมนาคมได้โดยเร็วที่สุด
8. สร้างอาคารชั่วคราวสำหรับผู้ที่อาศัย เนื่องจากถูกอุทกภัยทำลายให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว
9. การสงเคราะห์ผู้ประสบอุทกภัย เช่น การแจกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหารแก่ผู้ประสบภัย
10. ภายหลังอุทกภัย เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะทำให้เกิดเจ็บไข้และโรคระบาดได้ ดังนั้นควรมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาด